5 สาเหตุที่คนลดน้ำหนักด้วยการออกกำลังกายแล้วน้ำหนักไม่ลด หลายคนคงจะเคยได้ยินมาบ่อยๆ ว่า ถ้าอยากลดน้ำหนักแบบปลอดภัย ให้เริ่มต้นจากการออกกำลังกาย ซึ่งเมื่อคุณหันมาออกกำลังกาย ไม่ว่าจะเป็นการวิ่ง, ว่ายน้ำ, ปั่นจักรยาน หรือแม้กระทั่งเข้ายิมหรือฟิตเนสหรูๆ แต่เชื่อได้เลยว่า มากกว่า 50% มักจะไม่สามารถลดน้ำหนักได้ คุณเคยสงสัยไหมว่า ทำไมทั้งๆ ที่เราก็ออกกำลังกายต่อเนื่องมานานแล้วนะ แต่ทำไมน้ำหนักตัวของเราถึงไม่ลดลงสักทีละเนี่ย? แล้วแบบนี้เมื่อไรฉันจะผอมได้สักทีละเนี่ย????
เชื่อไหมครับว่า คนอ้วนที่อยากลดน้ำหนักหนัก ต่อให้สรรหาสารพัดวิธีลดน้ำหนัก หรือสูตรลดน้ำหนักมาทั่วจักรวาลสะท้านพิภพ ต่างก็ไม่สามารถลดน้ำหนักได้เหมือนที่ตัวเองตั้งใจไว้ เพียงเพราะพวกเขาตกม้าตายด้วยเหตุผลง่ายๆ 5 ข้อดังนี้
1. ออกกำลังกายแบบหักโหมเกินไป
การออกกำลังกายสำหรับลดน้ำหนักนั้น หมายถึง การเผาผลาญหรือใช้พลังงานให้มากพอที่จะให้ร่างกายไปดึงเอาไขมันสะสมตามส่วนต่างๆ ของร่างกายมาใช้ทดแทน แต่เนื่องจากว่าคนอ้วนหลายคนนั้น มักจะใจร้อน อยากผอมเร็วๆ ก็เลยคิดว่า ถ้างั้นฉันก็โหมออกกำลังกายไปเลย ร่างกายจะได้เร่งเอาไขมันสะสมมาใช้งานจะดีกว่า ทำให้คนอ้วนหลายคนเลือกใช้วิธีลดน้ำหนักด้วยการออกกำลังกายแบบบ้าพลัง ไม่ว่าจะเป็น การออกกำลังกายวันละ 2-3 ชั่วโมง, การวิ่งเป็นระยะทางไกลๆ, การว่ายน้ำ, การเต้นแอโรบิค และอีกสารพัดให้เหงื่อมันไหลออกมามากๆ โดยคิดว่าสิ่งที่ทำไปนั้น จะทำให้ร่างกายของตัวเองผอมเร็วๆ
แต่ความจริงแล้ว สิ่งที่คุณได้หลังจากการออกกำลังกายอย่างบ้าพลัง หรือหักโหมจนเกินไปนั้น ได้แก่
- คุณจะหิวชนิดที่เรียกว่าโหยหาอาหารอย่างบ้าคลั่งหลังจากออกกำลังกายเสร็จ ซึ่งถ้าคุณไม่สามารถยับยั้งชั่งใจได้ ก็เผลอกินอาหารเติมลงไปอยู่ดี
- ร่างกายของคุณจะเหนื่อยมาก โดยเฉพาะคนที่อ้วนมากๆ อยู่ๆ จะมาออกกำลังกายหักโหมเลยนั้น คุณมีโอกาสเป็นลม หรือหัวใจวายได้นะครับ ทำเป็นเล่นไป เนื่องจากภาวะอ้วนนั้น นอกจากน้ำหนักตัวที่เกินแล้ว บางครั้งมันยังพาอาการผิดปกติอื่นๆ มาให้คุณด้วย เช่น ความดัน ซึ่งหากคุณอยู่ๆ ก็ฟิต คึกจัดลุกขึ้นมาออกกำลังกายทันที อาจจะทำให้หัวใจทำงานหนักเกินไป ระดับความดันผิดปกติ เกิดอาการวูบ (เป็นลม) ได้ง่ายๆ
- ร่างกายอาจจะซ่อมแซมอาการบาดเจ็บไม่ทันในวันรุ่งขึ้น หลายคนจึงเกิดอาการเดี้ยง ปวดเมื่อยตามตัวในวันรุ่งขึ้นทันที!
ทางแก้คือ คุณไม่ต้องฟิตมากขนาดนั้น ไม่ต้องใจร้อน การลดน้ำหนักที่ได้ผลคือ ต้องใช้ระยะเวลา ค่อยเป็นค่อยไป การออกกำลังกายก็เช่นกัน หากคุณไม่ได้ออกกำลังกายมานาน ก็อาจจะเริ่มง่ายๆ ด้วยการเดินขึ้นลงบันไดที่ทำงานช่วงเช้า กลางวัน และเย็นหลังเลิกงาน หรือถ้าคุณขึ้นรถเมล์กลับบ้าน ก็ลงก่อนสัก 1 ป้าย แล้วลองเริ่มเดินด้วยระยะ 1 ป้ายรถเมล์ก่อนก็ได้
ยิ่งคุณเหนื่อยหอบมากเท่าไร ร่างกายจะหายใจไม่ทัน ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนน้อยลง การจะเผาผลาญไขมันได้ดีนั้น ระดับออกซิเจนในร่างกายต้องสูง ดังนั้นคุณจึงควรจะออกกำลังกายแบบช้าๆ เน้นสูดลมหายใจ ดังนั้นหากคุณเป็นคนอ้วนมาก ไม่รู้จะออกกำลังกายยังไงดี ก็สามารถเริ่มต้นง่ายๆ เช่น การรำไทเก็ก ที่ใช้การเคลื่อนไหวช้าๆ เน้นการหายใจ การเคลื่อนไหวที่ช้า แต่เกร็งกล้ามเนื้อทั้งร่างกาย จะทำให้กล้ามเนื้อในร่างกายทำงานมากขึ้น เมื่อร่างกายได้รับออกซิเจนมากขึ้น (เพราะเราหายใจลึกขึ้น หายใจช้าลง) จะทำให้กระบวนการเผาผลาญไขมันทำงานได้ดีขึ้นกว่าการออกกำลังกายที่เรารู้สึกเหนื่อย หายใจไม่ทัน (เรียกง่ายๆ ว่า ถ้าคุณออกกำลังกายแล้ว หอบจนรู้สึกว่าหายใจไม่ทัน แสดงว่าคุณหักโหมเกินไปซะแล้ว)
2. ขาดความสม่ำเสมอ
ร่างกายของคนเรานั้นมีความแปลกอยู่หลายอย่าง หากคุณออกกำลังกายแบบเดิมซ้ำๆ ทุกๆ วัน ร่างกายจะเริ่มมีการปรับตัว จากเดิมที่คุณอาจจะรู้สึกเหนื่อย เมื่อยล้า ไม่มีแรง แต่เมื่อคุณเริ่มออกกำลังกาย สั่งให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวบ่อยๆ ร่างกายจะเริ่มปรับตัวและเกิดการเคยชิน ทำให้การออกกำลังกายในวันต่อๆ ไปของคุณเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นกว่าวันก่อนๆ
แต่คนอ้วนหลายคนมักจะเลิกล้มการออกกำลังกายไปก่อน เนื่องจากว่าดันไปโหมออกกำลังกายในช่วงแรกอย่างบ้าคลั่ง จนหอบ เหนื่อยจัด จนวันรุ่งขึ้นร่างกายซ่อมแซมไม่ทัน เกิดอาการเจ็บจนไม่อยากไปออกกำลังกายอีกนั้นเอง
นอกจากนั้นความมีวินัยในการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเป็นหัวใจสำคัญอีกข้อของการลดน้ำหนักให้ประสบความสำเร็จ มันไม่สำคัญว่าคุณจะโหมออกกำลังกายในแต่ละวันแค่ไหน แต่สำคัญว่าคุณทำได้ต่อเนื่อง ยาวนานแค่ไหนต่างหาก
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณต้องการลดน้ำหนัก แน่นอนว่าหลักการง่ายๆ คือ ใช้พลังงานในแต่ละวันให้มากกว่าพลังงานที่เราได้รับจากอาหารในแต่ละวัน ดังนั้นเมื่อเราออกกำลังกาย ก็เป็นการใช้พลังงานในแต่ละวัน เมื่อในแต่ละวันพลังงานที่ใช้มากกว่าพลังงานที่ได้รับ ร่างกายก็จะไปดึงเอาไขมันมาชดเชยแทน ยิ่งคุณใช้พลังงานเกินกว่าพลังงานที่ได้รับในแต่ละวันได้ยาวนาน ต่อเนื่องกันอย่างสม่ำเสมอมากเท่าไร ร่างกายของคุณก็จะค่อยๆ เริ่มผอมลง สัดส่วนต่างๆ ก็จะกระชับมากยิ่งขึ้นนั้นเอง
3. เลือกเวลาออกกำลังกายผิด
เวลาคนจะออกกำลังกาย ส่วนมากมักจะออกกำลังกายแค่ ช่วงเช้า หรือช่วงเย็น แต่ในสมัยนี้ คนส่วนมากมักจะเลือกออกกำลังกายช่วงเย็นแทน ซึ่งมันก็ไม่ได้เลวร้ายอะไรมากมาย แต่ถ้าคุณต้องการออกกำลังกายเพื่อลดน้ำหนักแล้วละก็ การออกกำลังกายในช่วงตอนเย็นจะเป็นเวลาที่ผิดมากสำหรับคนอ้วนที่กำลังหาวิธีลดน้ำหนัก
เหตุผลเพราะว่า หลังจากที่คุณออกกำลังกายเสร็จแล้ว (ช่วงเย็น) โดยมากในช่วงสัปดาห์แรกๆ ของการลดน้ำหนัก คุณจะยังหิวอยู่ ยิ่งออกกำลังกายด้วย ยิ่งหิวหนักเป็นทวีคูณ ดังนั้นคุณจะอดใจได้ยังไงเมื่อท้องคุณร้อง น้ำย่อยหลั่งจนไส้จะขาดอยู่แล้ว แต่ถ้ากลับกัน คุณเลือกที่จะออกกำลังกายในช่วงเช้าแทน แน่นอนว่าคุณยังสามารถกินอาหารเช้า หรืออาหารกลางวันทดแทนเข้าไปได้นั้นเอง
ดังนั้นหากใครที่กำลังอยากลดน้ำหนักแล้วอยากจะออกกำลังกายด้วย แนะนำว่าออกกำลังกายในตอนเช้าจะดีกว่า ไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายด้วยการวิ่ง, เต้นแอโรบิค ฯลฯ เท่านั้น การออกกำลังกายในที่นี้คุณสามารถทำเองได้ในทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นการเดินขึ้นลงบันได, การเดินไปที่ทำงาน (ในระยะทางที่ใช้เวลาเดินสัก 10-15 นาที) การออกกำลังกายในช่วงเช้านี้ เน้นแค่เอาให้รู้สึกร่างกายอุ่นๆ เหงื่อยซึมๆ เล็กๆ ก็พอแล้วครับ จำไว้ว่าไม่ต้องหักโหม แต่เน้นความต่อเนื่องและสม่ำเสมอจะดีกว่าครับ
ส่วนมากคนที่ลดน้ำหนักก็มักจะใจร้อน อยากให้น้ำหนักลดลงเร็วๆ เลยออกกำลังกายแบบหักโหม หนักๆ ไปเลย หวังว่าน้ำหนักจะลดลงอย่างรวดเร็วแล้วจะได้ไม่ต้องออกกำลังกายอีก แบบนี้คิดผิดมหันต์เลยค่ะ นอกจากจะทำให้เหนื่อยเปล่าแล้ว น้ำหนักก็ยังไม่ลดเท่าที่ควรด้วยค่ะ ทีนี้เรามาดูวิธีออกกำลังกายที่ถูกต้องดีกว่าค่ะ
4. ไม่ระวังเรื่องอาหาร
แน่นอนว่าหลังจากที่คุณใช้พลังงานไปกับการออกกำลังกายแล้ว (ไม่ว่าจะออกแบบเบา หรือแบบบ้าพลังก็ตาม) สิ่งหนึ่งที่ตามมาเสมอก็คือ “อาการหิว”นั้นเอง ซึ่งหากคุณไม่ควบคุมอาหารที่จะยัดใส่ปากแล้วละก็ สิ่งที่คุณออกกำลังกายมาก่อนหน้านี้มันก็ไร้ค่าสิ้นดีนั้นเอง ดังนั้นก่อนจะกิน จะดื่มอะไร ลองอ่านสลาก หรือคำนวนในใจสักนิดว่า สิ่งที่เราจะกินเข้าไปนั้น มันให้พลังงานเรามากน้อยแค่ไหน
หากเป็นอาหารสมัยใหม่ที่มีบรรจุภัณฑ์ดีๆ โดยมากบนสลากจะมีการระบุไว้ว่า อาหารนั้นๆ ให้พลังงานกี่กิโลแคลอรี่ ซึ่งโดยปกติร่างกายของผู้ชายคือ ต้องการพลังงาน 1,800 – 2,000 กิโลแคลอรี่ ส่วนผู้หญิงต้องการพลังงานประมาณ 1,200 – 1,500 กิโลแคลอรี่
คำนวนง่ายๆ ในใจก็คือ อาหาร 1 มื้อ ไม่ว่าจะเป็นข้าวขาหมู ข้าวมันไก่ ข้าวราดแกง ฯลฯ โดยเฉลี่ยอาหาร 1 จาน (ปริมาณที่คนทั่วไปทานกัน) จะให้พลังงานประมาณ 200 – 500 กิโลแคลอรี่ (ยกเว้นพวกจัดหนัก เช่น ข้าวขาหมูหนังล้วน, ข้าวมันไก่เนื้อหนัง ฯลฯ อันนี้ก็อาจจะเกิน 500 กิโลแคลอรี่ได้เช่นกัน) แปลว่า ถ้าคุณกินแค่มื้อละ 1 จาน แล้วไม่ทานอะไรเพิ่มเติม (ที่เหลือกินแต่น้ำ) แล้วออกกำลังกายเพิ่มนิดหน่อย แค่นี้ร่างกายของคุณก็จะใช้พลังงานมากกว่าพลังงานที่ได้รับในแต่ละวันแล้ว ร่างกายคุณจึงต้องดึงเอาไขมันสะสมมาใช้ และนั้นก็แปลว่าคุณกำลังเริ่มจะผอมแล้วนั้นเอง!!!
5. กินน้ำน้อยเกินไป
น้ำเป็นสิ่งสำคัญของมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าคุณจะอยากลดน้ำหนักหรือไม่อยากลดน้ำหนักก็ตาม ยังไงซะร่างกายของคุณก็ต้องได้รับน้ำเข้าไปในปริมาณที่เพียงพอในแต่ละวัน คนที่ลดน้ำหนักได้ช้าหลายคนอาจจะมาพลาดตกม้าตายตรงกินน้ำน้อยนี่แหละครับ บางคนทั้งวันกินน้ำไม่ถึง 500 มิลลิลิตร (ประมาณ 3 แก้ว) ด้วยซ้ำ!
การกินน้ำนอกจากจะทำให้ร่างกายสดชื่นแล้ว การกินน้ำยังมีผลต่อการลดน้ำหนักอีกด้วย เพราะการกินน้ำจะเข้าไปช่วยเรื่องการขับถ่ายไล่ของเสียต่างๆ ภายในร่างกาย, ทดแทนน้ำที่สูญเสียไปในการออกกำลังกาย เพิ่มความสดชื่นหลังจากการออกกำลังกาย ฯลฯ ซึ่งหากวันนี้คุณยังไม่สามารถกินน้ำได้วันละ 8 แก้ว ก็ควรจะเริ่มหัดกินน้ำมากขึ้นทีละนิดทีละน้อย ไม่ต้องบ้าจี้ฝืนกินให้ได้ 8 แก้วหรือมากกว่าทันทีทันใด ทุกๆ อย่างต้องอยู่บนพื้นฐานของการค่อยเป็นค่อยไปเสมอ
ที่มา http://www.wecandiet.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น